สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
กรดไหลย้อนมีสาเหตุส่วนใหญ่จากการคลายตัวของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะเกิดอาการแสบยอดอก เรอเปรี้ยว รู้สึกขมในคอ เปรี้ยวในคอ ไอเรื้อรัง เสียงแหบเรื้อรัง มีกลิ่นปากและมักมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ คลื่นไส้หลังรับประทานอาหารร่วมด้วย อาการมักเป็นมากหลังจากรับประทานอาหารมื้อหนัก หรือโน้มตัวไปข้างหน้า หรือยกของหนัก หรือนอนหงาย ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดอาหารขึ้น ได้แก่ หลอดอาหารอักเสบมีเลือดออกจากหลอดอาหาร กลืนติด กลืนลำบาก
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการกรดไหลย้อนสามารถรักษาได้โดยวิธีการดังนี้
1. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป
2.หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต
3.หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
4.ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหารควรเว้นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
5.ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป
6.หนุนหมอนให้สูงอย่างน้อย 6 นิ้ว เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน
7.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
8.หลีกเลี่ยงความเครียด
9.รับประทานผักผลไม้ เพื่อกระตุ้นการขับถ่าย ลดอาการแน่นท้องจากกรดไหลย้อน หรืออาจรับประทานขมิ้นชันเพื่อช่วยขับลม
กรดไหลย้อนเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากมีอาการกรดไหลย้อนในเบื้องต้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เหมาะสมดังที่กล่าวไปข้างต้น และอาจรับประทานพืชผักรสเย็น หรือสมุนไพรตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเพื่อช่วยบรรเทาอาการ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์