อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia)

สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

อาหารไม่ย่อย หรือ ธาตุพิการ (Dyspepsia) คือ อาการไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร ผู้ป่วยมักมีอาการ จุกเสียด แน่นท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่ การรับประทานอาหารปริมาณมากในแต่ละมื้อ การรับประทานอาหารเร็ว การรับประทานอาหารบางประเภท ได้แก่ อาหารมันๆ อาหารรสจัด อาหารที่มีกากใยสูงมาก เช่น ธัญพืช กล้วยหอม ฝรั่ง ผักสด เป็นต้น อาหารหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย และปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ

สำหรับวิธีปฏิบัติตัวได้แก่ รับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่หลายมื้อ เพื่อให้น้ำย่อยอาหารเพียงพอที่จะย่อยอาหาร เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้อาหารย่อยได้ง่าย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ย่อยยากและทำให้เกิดแก๊ส ไม่ควรรับประทานผักสด แต่ควรรับประทานผักต้มเพื่อให้ย่อยง่ายขึ้น อาจรับประทานขมิ้นชัน ดื่มน้ำขิงอุ่นๆ หรือนำใบกะเพราสดมาต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มหลังรับประทานอาหารครั้งละ 1 แก้ว เพื่อช่วยขับลม ลดอาการจุกเสียด หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน การสูบบุหรี่ เพราะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย เพื่อลดความเครียดและกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนวดและประคบสมุนไพรที่ท้องด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้และกระจายเลือดลมในทางเดินอาหาร

อาหารไม่ย่อยนั้นก่อให้เกิดอาการแน่นท้อง เรอ คลื่นไส้ ซึ่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการกิน การไม่ออกกำลังกาย และปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว รับประทานอาหารที่เหมาะสม อาจรับประทานสมุนไพรพื้นบ้าน หรือบรรเทาอาการด้วยการนวดและประคบท้องตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้ดียิ่งขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อ่านต่อ เกร็ดความรู้สุขภาพที่น่าสนใจ